บริษัทฯ ประกอบธุรกิจการผลิตและจัดจำหน่ายถ่านหินเป็นธุรกิจหลักทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยมีฐานการผลิตและจัดจำหน่ายถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังดำเนินธุรกิจบริการการขนส่งทางทะเลในประเทศสิงคโปร์เพื่อรองรับและจัดการการขนส่งถ่านหินมายังประเทศไทยและต่างประเทศ

ลักษณะของถ่านหิน
     ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงธรรมชาติชนิดหนึ่งประกอบด้วยสารที่ระเหยได้ชนิดต่างๆ ความชื้นและแร่ธาตุที่สำคัญคือ คาร์บอน (CARBON) ซึ่งเป็นส่วนที่จะเผาไหม้ได้ เมื่อสารระเหยและความชื้นถูกขับไล่ออกไปจะมีขี้เถ้าจำนวนเล็กน้อยเหลืออยู่หลังจากเผาไหม้แล้ว ถ่านหินสามารถจัดแบ่งตามคุณภาพโดยพิจารณาค่าความร้อน (CALORIFIC VALUE) ปริมาณสารระเหย (VOLATILE MATTER) และปริมาณคาร์บอนคงที่ (FIXED CARBON) เรียงลำดับจากคุณภาพที่ดีที่สุดได้ 4 กลุ่มคือ (1) ANTHRACITE, (2) BITUMINOUS, (3) SUB-BITUMINOUS และ (4) LIGNITE สำหรับถ่านหินที่สำรวจพบ และพัฒนาขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลายในประเทศไทยจะเป็นประเภทถ่านลิกไนต์ ส่วนถ่านหินที่นำเข้าจากต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นประเภท BITUMINOUS ซึ่งมีค่าความร้อนสูงกว่าถ่านลิกไนต์ที่ผลิตในประเทศ
     คุณสมบัติถ่านหินที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาซื้อขายโดยปกติจะประกอบด้วยค่าความร้อน (CALORIFIC VALUE) ปริมาณความชื้น (MOISTURE) ปริมาณสารระเหย (VOLATILE MATTER) ปริมาณคาร์บอนคงที่ (FIXED CARBON) ปริมาณขี้เถ้า (ASH) ปริมาณกำมะถัน (SULPHUR) และขนาดของก้อนแร่ (SIZE) ที่ผลิตออกจำหน่าย

การผลิตถ่านหิน
     ถ่านหินเกิดจากการสะสมตัวของซากพืชที่ทับถมอยู่ในหนอง คลอง บึงเป็นเวลานานนับล้านปี และค่อยๆ จมตัวลงใต้ผิวดินจนซากพืชกลายสภาพมาเป็นถ่านหิน โดยผลของการเปลี่ยนแปลงของผิวโลก และขบวนการตามธรรมชาติในช่วงหลายล้านปีที่ผ่านมา ดังนั้นการที่จะนำถ่านหินขึ้นมาใช้จึงต้องมีการสำรวจค้นหาโดยการศึกษาข้อมูลทางธรณีวิทยาใต้ผิวดิน เพื่อให้ทราบถึงความหนาของชั้นถ่านหิน ขอบเขตพื้นที่การกระจายตัวของแหล่งถ่านหิน คุณภาพทางเคมี และปริมาณสำรองในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเพื่อพัฒนาแหล่งถ่านหินดังกล่าวต่อไป ดังนั้นการผลิตถ่านหินจึงแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นตอนใหญ่ ดังนี้

(1) การสำรวจ : เริ่มตั้งแต่การศึกษาข้อมูลธรณีวิทยาผิวดินและโครงสร้างทางธรณีวิทยาเพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายในเบื้องต้นแล้วทำการเจาะสำรวจ (SCOUT DRILLING) เพื่อศึกษาการสะสมตัวของชั้นดิน หินและโครงสร้างทางธรณีวิทยาของพื้นที่เพื่อให้แน่ใจว่ามีถ่านหินสะสมตัวอยู่ รวมทั้งประเมินคุณภาพและปริมาณสำรองของถ่านหินในเชิงพาณิชย์ประกอบการตัดสินใจที่จะพัฒนาแหล่งถ่านหินดังกล่าวเพื่อเปิดการทำเหมืองต่อไป

(2) การทำเหมือง : ก่อนจะเปิดการทำเหมืองจำเป็นต้องทำการเจาะสำรวจในขั้นละเอียด (DETAIL DRILLING) เพื่อหาข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของพื้นที่ ได้แก่ ปริมาณสำรองและคุณภาพในแต่ละระดับของการวางตัวของชั้นถ่านหินรวมทั้งชั้นดินที่ปิดทับอยู่ ข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาใช้ในการกำหนดแผนแม่บทในการทำเหมือง (MINE MASTER PLAN) ซึ่งจะรวมถึงการศึกษาต้นทุนและวิธีการเปิดเหมืองตลอดจนศึกษาปริมาณและบริเวณที่จะขุดขนส่งหน้าดินหรือถ่านหินในแต่ละขั้นตอนและการเลือกเครื่องจักรเครื่องมือที่เหมาะสมกับการทำเหมืองด้วย

(3) การแต่งแร่ : ถ่านหินที่ขุดได้จากการทำเหมืองจะต้องผ่านการแต่งแร่เพื่อให้ได้ถ่านหินที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้ใช้หรือลูกค้า ซึ่งมีขั้นตอนตั้งแต่บด ย่อย คัดขนาด รวมทั้งคัดสิ่งเจือปนออก โดยการร่อน และล้างเป็นต้น

การกำหนดราคาถ่านหิน
     ราคาขายถ่านหินจะกำหนดตามค่าความร้อนเป็นหลักเช่นเดียวกับการกำหนดราคาขายเชื้อเพลิงชนิดอื่น ราคาขาย ถ่านหินสำหรับลูกค้าแต่ละรายจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ คือปริมาณที่สั่งซื้อ ข้อกำหนดด้านคุณภาพ เช่น ค่าความร้อน ระยะเวลาชำระเงินและเงื่อนไขอื่นที่ลูกค้ากำหนด ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดราคาขายถ่านหินสำหรับลูกค้าทุกรายโดยเสมอภาคกัน การกำหนดราคาขายถ่านหินที่นำเข้าจากต่างประเทศขึ้นอยู่กับการตกลงของลูกค้าแต่ละรายซึ่งอาจจะเป็นราคา FOB หรือ CIF หรือราคาส่งถึงโรงงานของผู้ซื้อ เป็นต้น

การจัดจำหน่าย
     วิธีการจัดจำหน่ายถ่านหินในประเทศจะจำหน่ายให้กับลูกค้าหรือผู้ใช้โดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่วนการขายถ่านหินในต่างประเทศจะจำหน่ายให้ลูกค้าหรือผู้ใช้โดยตรงและขายผ่านพ่อค้าคนกลางด้วย ส่วนใหญ่จะขายเป็นเงินเชื่อซึ่งบริษัทฯ จะพิจารณาให้เครดิตเฉพาะลูกค้ารายใหญ่ที่มีการซื้อขายกันมานานหลายปีและมีฐานะการเงินมั่นคงเท่านั้น ส่วนลูกค้าที่เพิ่งจะเริ่มทำการซื้อขายกันครั้งแรก บริษัทฯ จะให้ลูกค้าเปิด LETTER OF CREDIT (L/C) ซึ่งตั้งแต่เปิดกิจการในปี 2528 จนถึงปัจจุบันบริษัทฯ มีปัญหาหนี้สูญจากการจำหน่ายถ่านหินน้อยมาก

กลยุทธ์ในการแข่งขัน
     บริษัทฯ จะเน้นการให้บริการและการควบคุมคุณภาพถ่านหินเป็นกลยุทธ์หลักในการแข่งขันแทนการใช้กลยุทธ์ด้านราคา นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้พัฒนาวิธีการผลิตถ่านหินให้ได้คุณภาพดี โดยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาระบบการผลิตถ่านหินอย่างสม่ำเสมอ

ภาวะการแข่งขัน
     ธุรกิจการจำหน่ายถ่านหินในประเทศเป็นธุรกิจที่มีผู้ประกอบการน้อยราย (OLIGOPOLY MARKET) โดยมีลูกค้าที่เป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และขนาดเล็กโดยมีคู่แข่งขันที่สำคัญคือบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้บริษัทฯ มีเหมืองถ่านหินที่มีคุณภาพสูงเป็นของตนเองและยังมีปริมาณสำรองในเชิงพาณิชย์อีกหลายปี จึงมีจุดแข็งและศักยภาพในการแข่งขันที่ดี

แนวโน้มอุตสาหกรรม

     เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2564 จากปัญหาวิกฤตสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ผ่อนคลายลงทำให้มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อุปทานของเชื้อเพลิงและโลจิสติกส์ยังคงค่อนข้างตึงตัว ประกอบกับสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียเริ่มส่งผลความกังวลให้กับตลาดในระหว่างไตรมาสที่ 1/2565 และราคาตลาดของสินค้ากลุ่มโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วรวมถึงราคาถ่านหิน

     ต่อมาภายหลังจากที่ตลาดได้ปรับระดับขึ้นแล้วก็ยังมีการปรับขยับขึ้นลงบ้างตามปัจจัยหนุนอาทิจากผลกระทบจากการใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ของจีนที่เข้มงวดภายใต้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ส่งผลให้ธุรกิจอุตสาหกรรมการค้าและการบริการภายในประเทศจีนชะลอตัวค่อนข้างสูง นอกจากนี้ตลาดยังรอดูสัญญาณจากท่าทีของสหภาพยุโรป (European Union หรือ “EU”) ที่อยู่ระหว่างรอฉันทามติจากประเทศสมาชิกในการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย รวมถึงความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นจากท่าทีของธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มมีมาตรการเข้มงวดทางการเงินซึ่งได้ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงตามมา ซึ่งเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2565 ทางสหภาพยุโรปสามารถตกลงกันได้และประกาศอย่างเป็นทางการที่จะลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียกว่าร้อยละ 90 ภายในสิ้นปี 2565 ส่วนทางด้านรัสเซียเองก็ได้ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวโดยประกาศระงับการส่งมอบน้ำมันรวมถึงก๊าซธรรมชาติและถ่านหินกับประเทศที่ปฏิเสธจะจ่ายค่าพลังงานเป็นเงินสกุลรูเบิลรัสเซีย ต่อมาเมื่อสถานการณ์เข้าสู่เดือนกรกฎาคม 2565 ตลาดมีความกังวลมากขึ้นต่อ Global Recession รวมถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนที่ติดเชื้อ COVID-19 ในจีนที่สูงขึ้นโดยมีการประกาศเขตควบคุมครั้งใหม่ซึ่งประชาชนบางส่วนออกมาประท้วงในครั้งนี้ทำให้ตลาดลดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของจีนลงมาอีกและได้ปรับลดประมาณการใช้น้ำมันจากที่จีนซึ่งเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกบวกกับความผันผวนในตลาดค่าเงิน ทำให้ตลาดราคาน้ำมันดิบปรับลดลงสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเริ่มต้นของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งถือว่าเป็น Economic Turbulence ของโลกในปี 2565

     อย่างไรก็ตามตลาดก๊าซธรรมชาติกลับมีทิศทางสวนทางกับตลาดน้ำมันโดยสิ้นเชิง โดยราคาก๊าซธรรมชาติได้ปรับระดับสูงขึ้นอีกตามความกังวลของประเทศทางยุโรปที่จะมีพลังงานไว้ใช้เพียงพอในช่วงฤดูหนาวที่ใกล้จะมาถึงอันเนื่องจากรัสเซียระงับการส่งมอบจึงได้มีการเร่งสร้างสต็อกก๊าซธรรมชาติโดยนำเข้าจากแหล่งอื่นเพื่อทดแทน ส่งผลให้ตลาดตึงตัวสูงมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนรวมถึงข้อจำกัดของระบบท่อส่งและโรงแยกก๊าซ LNG (Degasification) ที่จะถูกสร้างขึ้นมาจะเสร็จไม่ทันหรือไม่เพียงพอ จึงทำให้เชื้อเพลิงถ่านหินได้ถูกเลือกมาเสริมในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่เดิมหรือเปิดเดินเครื่องใหม่สำหรับโรงไฟฟ้าที่เคยถูกปิดไว้จากเดิมที่มีนโยบายปรับลดหรือยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินมาก่อนหน้านี้ จนมาถึงต้นเดือนธันวาคม 2565 เป็นที่ทราบชัดว่าฤดูหนาวไม่รุนแรงตามที่ได้ประเมินไว้ ประเทศต่างๆ คลายความกังวลต่อวิกฤติพลังงานและก๊าซธรรมชาติที่กักตุนไว้จากคลังได้ถูกนำมาใช้น้อยกว่าที่เตรียมไว้และมีอุปสงค์ลดน้อยลงกว่าเดิม ซึ่งตลาด Dutch TTF ซึ่งเป็นดัชนีราคามาตรฐานหลักของการซื้อขายก๊าซธรรมชาติของยุโรปที่เคยทะลุทำสถิติสูงที่สุดที่ 345 ยูโร ต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมงในเดือนมีนาคม 2555 ได้ปรับตัวลดลงอย่างฉับพลันมาอยู่ที่ 73 ยูโร ต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมงในเดือนธันวาคม 2565 หรือลดลงประมาณ 50% จากเดือนก่อน ส่วนตลาดถ่านหินก็ได้ปรับลดตามลงมาเช่นกันในเดือนมกราคม 2566 และลดลงต่อเนื่องในเดือนถัดมา

     สำหรับตลาดถ่านหินในภูมิภาคเอเชียปี 2565 ประเทศผู้นำเข้าหลักอย่างประเทศจีนนำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียจำนวน 69.69 ล้านเมตริกตัน ลดลงจากปี 2564 ที่จำนวน 109.49 ล้านเมตริกตัน หรือลดลง 35.76% เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากมาตรการควบคุมโควิดเป็นศูนย์ ขณะที่ประเทศอินเดียขึ้นมาเป็นผู้นำเข้าอันดับแรกแทนที่ประเทศจีน โดยประเทศอินเดียนำเข้าถ่านหินจำนวน 110.15 ล้านเมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่นำเข้าถ่านหินจำนวน 70.78 ล้านเมตริกตัน หรือเพิ่มขึ้น 55.63% ทั้งนี้ประเทศอินโดนีเซียส่งออกถ่านหินรวมทั้งสิ้นประมาณ 306.29 ล้านเมตริกตัน หรือเพิ่มขึ้น 4.29% จากปี 2564

     บทวิเคราะห์ Coal 2022 ของ U.S. Energy Information Administration (EIA) ได้รายงานตัวเลขปริมาณยอดการใช้ถ่านหินโลกในปี 2565 รวมทั้งสิ้น 8,025 ล้านเมตริกตัน ปรับสูงขึ้นกว่าปีก่อน 1.2% จาก 7,929 ล้านเมตริกตัน ซึ่งสูงที่สุดในประวัติการณ์ และคาดว่าจะยืนอยู่เหนือระดับแปดพันล้านเมตริกตันต่อเนื่องไปถึงปี 2568 เป็นอย่างน้อยตามปีที่ได้ประมาณการไว้ ประเทศจีนและอินเดียยังเป็นผู้ใช้ถ่านหินอันดับต้นของโลก โดยประเทศจีนเป็นอันดับหนึ่งที่ปริมาณ 4,250 ล้านเมตริกตันในปี 2565 โดยจะปรับขึ้นเป็น 4,337 ในปี 2568 หรือเพิ่มขึ้น 0.7% ขณะที่ประเทศอินเดียเป็นอันดับสองที่ปริมาณ 1,103 ล้านเมตริกตันในปี 2565 โดยจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,220 ในปี 2568 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3.4% ในด้านการผลิตถ่านหินได้ถูกประเมินว่าจะเข้าสู่จุดสูงสุดในปี 2566 และจะปรับตัวลดลงโดยเฉพาะหลังจากปี 2568 จากข้อจำกัดในการพัฒนาถ่านหินแหล่งใหม่ที่จะมีได้น้อยลงภายใต้ปัจจัยที่ท้าทายจากความสมบูรณ์ของแหล่งแร่ ข้อกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมสังคมการกำกับกิจการ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่

ลักษณะการประกอบธุรกิจถ่านหิน

ธุรกิจถ่านหินในประเทศ
     บริษัทฯ นำเข้าถ่านหินจากเหมืองร่วมทุนและจากแหล่งอื่นในประเทศอินโดนีเซียมาจำหน่ายให้กับลูกค้าในประเทศไทย โดยขายแบบส่งตรงให้ลูกค้าและนำเข้ามาสต๊อกไว้ ณ ศูนย์จำหน่ายถ่านหินอยุธยาซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพื่อจำหน่ายให้ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง โดยศูนย์จำหน่ายถ่านหินอยุธยามีเนื้อที่ทั้งสิ้น 31 ไร่ 29 ตารางวาสามารถรองรับการนำเข้าถ่านหินมาสต๊อกได้ถึง 200,000 เมตริกตัน โดยบริษัทฯ มีส่วนแบ่งตลาดถ่านหินในประเทศสำหรับปี 2565 ประมาณร้อยละ 5 ของปริมาณถ่านหินที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมโดยไม่รวมถ่านหินที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ (IPP) และรายเล็ก (SPP) ซึ่งการใช้ถ่านหินในประเทศในปี 2565 ส่วนใหญ่จะใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์คิดเป็นร้อยละประมาณ 39 และใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอื่นคิดเป็นร้อยละประมาณ 61 ทั้งนี้ไม่รวมการผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (“ELECTRICITY GENERATING AUTHORITY OF THAILAND” หรือ “EGAT”) คาดว่าการใช้ถ่านหินซึ่งมีราคาต่อหน่วยของค่าความร้อนที่ต่ำกว่าน้ำมันและเชื้อเพลิงอื่นจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต


ธุรกิจถ่านหินในต่างประเทศ
     บริษัทฯ ได้เข้าไปร่วมลงทุนทำเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียมาเป็นเวลามากกว่า 21 ปีแล้ว โดยบริษัทฯ ได้นำเข้าถ่านหินจากเหมืองร่วมทุนในประเทศอินโดนีเซียมาจำหน่ายให้กับลูกค้าในประเทศไทยและส่งไปจำหน่ายยังประเทศอื่นด้วยโดยเฉพาะตลาดในแถบภูมิภาคเอเชีย เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง เป็นต้น โดยถ่านหินที่บริษัทฯ ผลิตออกจำหน่ายมีคุณภาพและมี BRAND เป็นที่เชื่อถือของลูกค้าทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งที่มีชื่อเสียงเป็นที่น่าเชื่อถือในธุรกิจถ่านหินในภูมิภาคเอเชีย

     PT. LANNA HARITA INDONESIA (“LHI”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จดทะเบียนในประเทศอินโดนีเซีย โดยบริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นทางตรงร้อยละ 55 ของทุนที่ชำระแล้ว ประกอบธุรกิจทำเหมืองถ่านหินที่อำเภอ ซามารินดา และอำเภอคูเตย จังหวัดกาลิมันตันตะวันออก โดยได้รับสัมปทาน (COAL CONTRACT OF WORK) จากรัฐบาลแห่งประเทศอินโดนีเซียเพื่อผลิตถ่านหินออกจำหน่ายมีกำหนดเวลา 30 ปี (เริ่มตั้งแต่ปี 2544 ถึง 2574) โดยมีปริมาณสำรองถ่านหินคงเหลือไม่ต่ำกว่า 20 ล้านเมตริกตัน และมีกำลังการผลิตถ่านหินออกจำหน่ายปีละประมาณ 3.5 ล้านเมตริกตัน

     PT. SINGLURUS PRATAMA (“SGP”) เป็นบริษัทย่อยที่จดทะเบียนในประเทศอินโดนีเซียโดยบริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นทางตรงร้อยละ 65 ของทุนที่ชำระแล้ว ประกอบธุรกิจทำเหมืองถ่านหินที่อำเภอคูเตย จังหวัดกาลิมันตันตะวันออก โดยได้รับสัมปทาน (COAL CONTRACT OF WORK) จากรัฐบาลแห่งประเทศอินโดนีเซียเพื่อผลิตถ่านหินออกจำหน่ายมีกำหนดเวลา 30 ปี (เริ่มตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2582) โดยมีปริมาณสำรองถ่านหินคงเหลือไม่ต่ำกว่า 40 ล้านเมตริกตัน โดยได้ผลิตถ่านหินออกจำหน่ายจากปี 2565 ที่ประมาณ 4 ล้านเมตริกตัน และมีแผนงานที่จะเพิ่มการผลิตและจำหน่ายถ่านหินขึ้นเป็น 4-5 ล้านเมตริกตันในปีต่อๆไป โดย SGP อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาถ่านหินแหล่งใหม่ในพื้นที่สัมปทานเหมืองถ่านหินของ SGP คือแหล่ง MARGOMULYO BLOCK (“MG”) โดยจะเริ่มผลิตและจำหน่ายถ่านหินจากแหล่ง MG ภายในไตรมาสที่ 2/2566 ที่ประมาณ 0.5 ล้านเมตริกตันก่อนที่จะเพิ่มเป็น 1-1.5 ล้านเมตริกตันในปีต่อๆไป ซึ่งถ่านหินที่ผลิตจากแหล่ง MG จะใช้ท่าเทียบเรือ (PORT AND JETTY) ของแหล่ง ARGOSARI BLOCK (“AG”) ที่ผลิตและจำหน่ายถ่านหินอยู่ในปัจจุบัน โดย SGP ได้ดำเนินการเพิ่มกำลังการผลิตโดยก่อสร้างโรงแต่งแร่ที่ 2 และปรับปรุงพื้นที่กองเก็บถ่านหินบริเวณท่าเทียบเรือให้สามารถกองเก็บถ่านหินได้ถึง 200,000 เมตริกตันเรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างการก่อสร้างปรับปรุงท่าเทียบเรือและเพิ่มสายพานลำเลียงถ่านหินอีกหนึ่งชุดยาวประมาณ 1.70 กิโลเมตรทอดลงไปที่ท่าเทียบเรือในทะเล เพื่อรองรับการผลิตและจำหน่ายถ่านหินจากแหล่ง AG และ MG ดังกล่าว โดยวางแผนผลิตและจำหน่ายถ่านหินประมาณ 3 และ 1.5 ล้านเมตริกตันต่อปีตามลำดับ รวมทั้งสิ้นประมาณ 4.5 ล้านเมตริกตันต่อปี ซึ่งเป็นถ่านหินคุณภาพดีที่มีค่าความร้อนสูงและปริมาณ SULPHUR ต่ำซึ่งคาดว่าจะทำตลาดได้ง่ายและมีอัตรากำไรที่ดี

     PT. PESONA KHATULISTIWA NUSANTARA (“PKN”) เป็นบริษัทย่อยที่จดทะเบียนในประเทศอินโดนีเซียโดยบริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นทางตรงร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ประกอบธุรกิจทำเหมืองถ่านหินที่เมืองบูลุงงัน จังหวัดกาลิมันตันเหนือ โดยได้รับสัมปทาน (COAL CONTRACT OF WORK) จากรัฐบาลแห่งประเทศอินโดนีเซียเพื่อผลิตถ่านหินออกจำหน่ายมีกำหนดเวลา 30 ปี (เริ่มตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2582) โดยมีปริมาณสำรองถ่านหินคงเหลือไม่ต่ำกว่า 31 ล้านเมตริกตัน และมีกำลังการผลิตถ่านหินออกจำหน่ายในปี 2565 ที่ประมาณ 5.4 ล้านเมตริกตัน และได้วางแผนผลิตถ่านหินออกจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 6.0 ล้านเมตริกตันในปี 2566

   

     UNITED BULK SHIPPING PTE. LTD. (“UBS”) เป็นบริษัทร่วมที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ โดยบริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นทางตรงร้อยละ 49 ของทุนที่ชำระแล้ว ประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลและซื้อขายถ่านหิน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและบริหารการขนส่งถ่านหินที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยและหรือส่งไปจำหน่ายยังประเทศอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำ