เอทานอลหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เอทิลแอลกอฮอล์ คือแอลกอฮอล์ที่ได้จากการแปรรูปพืชผลทางเกษตรประเภทแป้งและน้ำตาล เช่น มันสำปะหลัง, อ้อย, กากน้ำตาล และข้าวโพด เป็นต้น โดยผ่านกระบวนการย่อยแป้งเป็นน้ำตาล (สำหรับวัตถุดิบประเภทแป้ง) กระบวนการหมักเพื่อเปลี่ยนน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์ และกระบวนการกลั่น รวมถึงกระบวนการแยกน้ำออก ให้ได้ความบริสุทธิ์สูงถึง 99.5% โดยปริมาตร

เอทานอลมีสูตรโมเลกุล C2H5OH มีจุดเดือดประมาณ 78 องศาเซลเซียส คุณสมบัติโดยทั่วไปเป็นของเหลวใส ไม่มีสี ติดไฟง่าย เป็นเชื้อเพลิงที่มีค่าออกเทนสูง ซึ่งเมื่อนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินในอัตราส่วนที่เหมาะสมจะได้น้ำมันเชื้อเพลิงสะอาดที่เผาไหม้ได้สมบูรณ์ขึ้น และช่วยลดมลพิษทางอากาศ โดยลดปริมาณสารประกอบไฮโดรคาร์บอน คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก (GREEN HOUSE EFFECT) ในชั้นบรรยากาศ

ธุรกิจเอทานอล

การผลิตเอทานอลเป็นเชื้อเพลิง
บริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (“TAE”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยมีกรรมวิธีการผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยใช้กากน้ำตาลและมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลักโดยมีขั้นตอนการผลิตที่สำคัญ 4 ขั้นตอนดังนี้

  1. การเตรียมวัตถุดิบ : มีกระบวนการแตกต่างกันตามประเภทวัตถุดิบที่ใช้ดังนี้
        (ก) กากน้ำตาล: ทำการเจือจางกากน้ำตาลด้วยน้ำให้ได้ความเข้มข้นที่พอเหมาะ โดยการเติมกรดเพื่อให้สิ่งเจือปนพวก ORGANIC SALT ตกตะกอนออกจากกากน้ำตาล แล้วจึงส่งเข้าสู่กระบวนการหมักต่อไป
        (ข) มันสำปะหลัง: ทำความสะอาดวัตถุดิบมันเส้นเพื่อกำจัดสิ่งเจือปนที่เป็นโลหะและดินทรายออกหลังจากนั้นมันเส้นจะถูกนำมาบดผสมกับน้ำจนได้เป็นน้ำแป้งและผ่านกระบวนการย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาลโดยใช้เอนไซม์ก่อนส่งไปยังกระบวนการหมักต่อไป
  2. การหมัก : วัตถุดิบที่ได้จากการเตรียมในขั้นที่ 1 จะถูกป้อนไปยังถังหมักโดยใช้ยีสต์เป็นตัวเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์
  3. การกลั่น : น้ำหมักในขั้นที่ 2 จะถูกป้อนไปยังหอกลั่นเพื่อแยกสิ่งเจือปนและน้ำออกเพื่อทำให้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ขึ้นเป็นประมาณ 96% ซึ่งถือเป็นค่าความเข้มข้นสูงสุดที่สามารถทำได้ในระบบการกลั่นแบบปกติโดยน้ำที่เหลืออีก 4% จะถูกกำจัดออกในขั้นตอนสุดท้าย
  4. การดูดน้ำออก : เป็นการแยกเอาน้ำที่เหลือจากขั้นตอนการกลั่นออกเพื่อทำให้แอลกอฮอล์ไร้น้ำเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% โดยไอระเหยของแอลกอฮอล์จะผ่าน DEHYDRATION UNIT จำนวน 2 ถังซึ่งจะมีซีโอไลท์ (ZEOLITES) บรรจุไว้ภายในทำหน้าที่ดูดซับน้ำออกจากแอลกอฮอล์ โดยแอลกอฮอล์ที่แห้งแล้วจะถูกควบกลั่นและทำให้เย็นลงก่อนจะเก็บบรรจุไว้จำหน่ายต่อไป
การกำหนดราคาเอทานอล
    คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เห็นชอบให้ใช้ราคาเอทานอลอ้างอิงจากการเปรียบเทียบราคาต่ำสุด ระหว่างราคาเอทานอลที่ผู้ผลิตรายงานต่อกรมสรรพสามิตกับราคาเอทานอลที่ผู้ค้ามาตรา 7 รายงานต่อสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ทั้งนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 เป็นต้นไป โดย TAE มีนโยบายในการกำหนดราคาขายจากต้นทุนบวกอัตรากำไรขั้นต้นที่เหมาะสม (Cost Plus Margin) ซึ่งนอกเหนือจากการพิจารณาราคาเอทานอลอ้างอิงที่ประกาศโดย สนพ.แล้ว TAE ยังพิจารณาปัจจัยต่างๆ ประกอบในการกำหนดราคาขายเอทานอลแปลงสภาพเป็นสำคัญ เช่น ราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอุปสงค์และอุปทานของตลาด รวมถึงภาวการณ์แข่งขันโดยรวมในขณะนั้นทั้งจากตลาดในประเทศและต่างประเทศ เป็นต้น

การจำหน่ายและช่องทางการจัดจำหน่ายเอทานอล
    กรมสรรพสามิตมีข้อกำหนดให้จำหน่ายเอทานอลที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงจะต้องผ่านการแปลงสภาพเป็น “เอทานอลแปลงสภาพ” (Denatured Ethanol) โดยผสมกับน้ำมันเบนซินหรือน้ำมันแก๊สโซฮอล์ในสัดส่วน 0.5% ต่อเอทานอล 99.5% โดยปริมาตรเพื่อให้ได้เอทานอลแปลงสภาพสำหรับจำหน่ายให้กับบริษัทผู้ค้าน้ำมัน ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 โดยบริษัทผู้ค้าน้ำมันจะนำเอทานอลแปลงสภาพไปผสมกับน้ำมันเบนซินในอัตราส่วนผสมต่างๆ เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 ตามลำดับ โดยลูกค้าเป็นผู้รับผิดชอบการขนส่งเอทานอลที่ซื้อเองเป็นส่วนใหญ่ และมีบางรายที่ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบการขนส่งเอทานอลที่ซื้อจนถึงคลังเก็บน้ำมันของลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่จะขายเป็นเงินเชื่อโดยลูกค้าเป็นบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงทางการเงินสูง จึงไม่มีความเสี่ยงจากการที่ลูกค้าจะไม่ชำระหนี้ในอนาคต

กลยุทธ์ในการแข่งขัน
    เน้นการให้บริการและการควบคุมคุณภาพสินค้า รวมถึงความแน่นอนในการส่งมอบสินค้า เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ทำให้สามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและครอบครองส่วนแบ่งในตลาดไว้ได้เป็นส่วนใหญ่

ภาวะอุตสาหกรรมเอทานอล
    ความต้องการใช้เอทานอลในปี 2566 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.53 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8 เนื่องจากรัฐบาลยกเลิกการชดเชยเงินกองทุนน้ำมันของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

ความต้องการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิง

รายละเอียด (หน่วย : ล้านลิตร)
ปี 2561 ปี 2562 ปี 2563 ปี 2564 ปี 2565 ปี 2566
ปริมาณการใช้เอทานอล 1,532.65 1,629.90 1,519.98 1,353.85 1,393.60 1,288.45
ปริมาณการใช้เอทานอลเฉลี่ยต่อวัน 4.20 4.43 4.00 3.71 3.83 3.53

ที่มา: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

ภาวะอุตสาหกรรมแก๊สโซฮอล์
    เนื่องจากเอทานอลที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงนั้น จะถูกนำไปผสมรวมกับน้ำมันเบนซินที่สัดส่วนต่างๆ เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10, E20 และ E85 ตามลำดับ ดังนั้น ความต้องการใช้เอทานอลสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในประเทศ จะแปรผันตามปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ในประเทศเป็นหลัก โดยในปี 2566 ปริมาณการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ในประเทศเพิ่มขึ้น 1.26 ล้านลิตรต่อวัน หรือคิดเป็น ร้อยละ 4.09 เมื่อเทียบกับปี 2565

ภาวการณ์แข่งขัน
    ในปี 2566 ประเทศไทยมีโรงงานผลิตเอทานอลที่เปิดดำเนินการแล้วจำนวน 27 โรงงาน คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 6,770,000 ลิตรต่อวัน

ส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจเอทานอล

ปี ปริมาณการใช้เอทานอลภายในประเทศ
(ล้านลิตร)
ปริมาณการขายเอทานอลแปลงสภาพของ TAE
(ล้านลิตร)
ส่วนแบ่งการตลาดของ TAE
(ร้อยละ)
2561 1,532.65 115.830 7.56
2562 1,629.90 117.021 7.18
2563 1,519.98 104.425 6.87
2564 1,353.85 85.352 6.30
2565 1,393.60 73.325 5.26
2566 1,288.45 88.774 6.89

หมายเหตุ :
(1) TAE มีส่วนแบ่งการตลาดในปี 2566 ร้อยละ 6.89 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 1.63
(2) ที่มา : กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

โครงการลงทุนในอนาคต
    บริษัทฯ ได้วางแผนและกำหนดกลยุทธ์การลงทุนและดำเนินธุรกิจให้มีความหลากหลาย การลงทุนมีความรัดกุม รอบคอบและระมัดระวัง และมีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้บริษัทฯ เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ มั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว อีกทั้งยังให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทฯ ประกอบธุรกิจถ่านหินเป็นธุรกิจหลัก โดยมีแหล่งสัมปทานเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียอยู่แล้ว 2 แห่งและได้เข้าไปลงทุนในแหล่งสัมปทานเหมืองถ่านหินแหล่งที่ 3 ในปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งแหล่งถ่านหินดังกล่าวทั้ง 3 แห่งมีอายุสัมปทานคงเหลืออยู่อีกมากกว่า 10 ปี และมีปริมาณสำรองถ่านหินที่มีคุณภาพและมากเพียงพอที่จะสร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องในระยะยาว แต่กระแสที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมองว่าพลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกและนำไปสู่ภาวะโลกร้อนที่เป็นปัญหารุนแรงและส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ มีความพยายามที่จะนำไปซึ่งการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลไปเป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น อย่างไรก็ตามพลังงานฟอสซิลยังคงเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในปัจจุบันและการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกเพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิลยังมีข้อจำกัดหลายประการ จึงทำให้การใช้พลังงานฟอสซิลยังมีความจำเป็นอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ รวมถึงเชื้อเพลิงถ่านหินก็ยังมีความต้องการและมีการใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงในอนาคต ซึ่งบริษัทฯ มีประสบการณ์ ความรู้และความชำนาญในการประกอบธุรกิจถ่านหินมาเป็นระยะเวลายาวนาน จึงยังคงมองหาช่องทางและโอกาสในการเข้าไปลงทุนในแหล่งสัมปทานเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อชดเชยปริมาณสำรองถ่านหินที่ลดลงในแต่ละปีอันเกิดจากการผลิตอย่างต่อเนื่อง

    บริษัทฯ ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและพยายามพัฒนาเพื่อให้บริษัทฯ ก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในอนาคต บริษัทฯ วางแผนที่จะสร้างความสมดุลในการลงทุนโดยมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำและพลังงานชีวมวล เป็นต้น โดยเฉพาะปัจจุบันภาครัฐได้ให้การสนับสนุนโครงการที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทฯ พยายามมองหาโอกาสหรือช่องทางในการลงทุนเพื่อทำให้เกิดการเติบโตรอบใหม่ หรือ New S-Curve โดยคิดนอกกรอบพลังงานในรูปแบบเดิมหรือคิดริเริ่มที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่ธุรกิจถ่านหิน (Non-Coal Business) ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทฯ อาจจะไม่มีความชำนาญหรือคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปซื้อหรือควบรวมกับกิจการอื่นหรือการเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรก็ตาม โดยมีเป้าหมายเพื่อหาช่องทางในการลงทุนในธุรกิจอื่นที่จะมาช่วยเสริมรายได้และกำไรจากธุรกิจถ่านหินและธุรกิจเอทานอลที่บริษัทฯ ทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีรวมทั้งสร้างรายได้และกำไรในอนาคตให้เพิ่มมากขึ้นอันจะนำไปซึ่งการเติบโตของบริษัทฯ อย่างมั่นคง มีคุณภาพและยั่งยืนในระยะยาวตามแนวทางและเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้

ลักษณะการประกอบธุรกิจเอทานอล
บริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (“TAE”) เป็นบริษัทย่อยที่จดทะเบียนในประเทศไทย โดยบริษัท ลานนารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นทางตรงร้อยละ 51 ของทุนที่ชำระแล้ว ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล (แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% โดยปริมาตร) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยมีโรงงานผลิตเอทานอลจำนวน 2 สายการผลิตตั้งอยู่ที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ขนาดกำลังการผลิตเอทานอลสายการผลิตที่ 1 จำนวน 150,000 ลิตรต่อวัน และสายการผลิตที่ 2 จำนวน 200,000 ลิตรต่อวัน รวมทั้งสิ้น 350,000 ลิตรต่อวัน โดยใช้กากน้ำตาลและมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบหลัก ทั้งสองสายการผลิตได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ทั้งนี้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดใช้ผสมกับน้ำมันเบนซินในอัตราส่วนผสม 10%, 20% และ 85% เป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10, E20 หรือ E85 ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์โดยทั่วไป ทั้งนี้หุ้นสามัญบริษัท ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเริ่มทำการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2557 เป็นต้นมา

ธุรกิจเอทานอล